4P 4C 4E 4D


สำหรับ ส่วนประสมทางการตลาด หรือ Marketing Mix ที่ทุกๆคนรู้จักกันใน 4Ps (Product, Price, Place, Promotion) บ้างก็มองว่ามันเก่าเกินไปแล้ว และมีแนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นมา บ้างก็บอกว่าของคนนั้น คนนี้ดีกว่า แต่หากถามผม ผมก็จะบอกว่า ไม่มีอะไรเก่าเกินไป แนวคิดต่างๆ เหล่านี้ก็ยังมีความสำคัญอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าคุณเองมองในมิติไหน และใช้ประโยชน์มันอย่างไร?


เราลองมาดูกันว่า แต่ละแนวคิด ที่ผมนำมาให้ดูคืออะไรกันบ้าง

4Ps เป็นส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix) ราได้ยินกันมานาน และยังคงได้ยินกันอยู่ทุกวัน หากจะย้อนกลับไป ผมอาจจะอธิบายง่ายๆ ว่าเป็นยุคแรกของการตลาด ที่มองว่า "The Product is King" โดยในปี 1960, E. Jerome McCarthy ได้นำเสนอส่วนประสมทางการตลาด “The Four Ps” หรือ 4P เอาไว้ ใน Basic Marketing: A Managerial Approach และเป็นที่นิยมและได้รู้จักกัน เมื่อ Prof. Philip Kotler ได้นำเสนอ Marketing Mix ในหนังสือ Marketing Management (1967). ซึ่ง 4Ps ประกอบด้วย

Product (ผลิตภัณฑ์) โดยมองผลิตภัณฑ์ เป็นศูนย์กลางของกลยุทธ์ในการนำเสนอ
Price (ราคา) เป็นหัวใจสําคัญของการวางตําแหน่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งการกำหนดราคาก็ยังมีกลยุทธ์ทางด้านราคาหลากหลายประเด็น หากมีเวลาจะมาสรุปให้ฟังอีกครั้ง
Place (สถานที่) คือ คช่องทางการขาย การกระจายสินค้า พูดง่ายๆ ก็คือช่องทางการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของลูกค้านั่นเอง
Promotion (การส่งเสริมการขาย) กล่าวโดยสั้นๆ ก็คือ การทำให้ลูกค้ามาสนับสนุน หรือมีโอกาสในการซื้อ และใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งเราก็จะรู้จักคำว่า Promotion เลยมักจะนึกถึง ลด-แลก-แจก-แถม ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือการสร้างโอกาสให้ลูกค้ามีโอกาสได้ลองใช้สินค้าของเรานั่นเอง

มาถึงจุดนี้แล้ว บางคนบอกว่า 4Ps มันน้อยไปแล้ว เคยได้ยิน 7Ps พูดง่ายๆ เพิ่มมาอีก 3Ps สำหรับธุรกิจบริการ ประกอบด้วย

People (บุคลากร) หรือพูดง่ายๆ ก็คือพนักงานของเรา ทีมงานที่ต้องนำเสนอสินค้า หรือบริการของเราให้กับลูกค้าก็ได้
Process (กระบวนการ) คือ รูปแบบของการส่งมอบ ส่งต่อ บริการหรือสินค้าให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นบริการหลังการขาย  การตรงต่อเวลา กระบวนการหรือวิธีการจัดส่ง 
Physical Evidence (สิ่งที่จับต้องได้) เป็นปัจจัยที่ลูกค้ารู้สึก และสัมผัสได้ เช่น บรรยากาศภายในร้าน ความรวดเร็วในการให้บริการ หรือพูดง่ายๆ จะต้องเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับลูกค้า

แค่ 4Ps หรือ 7Ps ฟังเหมือนง่ายๆ แต่หากมีเวลาไปศึกษารายละเอียดภายในแต่ละปัจจัยก็จะมีเรื่องให้ศึกษาอีกเยอะ ผมคงไม่ได้อธิบายลึกๆ เพราะตอนที่ผมสอน 4P จำได้เลยว่าแต่ละ P คุยกันไม่ต่ำกว่า 2 ชม ก็ยังไม่จบ หากอยากรู้พยายามหาอ่านเพิ่มเยอะๆครับ ทั้งนี้เอง อนาคตอาจจะมี 8Ps, 9Ps หรืออีกสารพัดทฤษฏี ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์กระบวนการของแต่ละคนนั้นก็ได้

4Cs เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ ที่พัฒนาครั้งแรกโดย Robert F. Lauterborn ในปี 1990 ซึ่งให้ความสำคัญในลักษณะของ Customer Centric มากขึ้น และในแนวคิดของ Marketing 2.0 โดย Kotler & Armstrong (2014) ได้กล่าวถึง 4Cs (Consumer, Cost, Convenience, Communication)

Consumer (wants and needs) ผู้บริโภค หรือเข้าใจง่ายๆ ก็คือ ลูกค้าของเรานี่ละ ถ้าเปรียบเทียบกับ 4P ก็มองในมุมมอง  Product -> Consumer  หากผมจะสรุปง่ายๆ สินค้า/บริการของเรา เหมาะกับใคร ลูกค้าต้องการอะไร และลูกค้าอยากได้อะไร 
Cost ราคา ถ้าผมจะอธิบายง่ายๆ ให้คิดให้ได้ว่า ลูกค้าที่เรากำหนดไว้ มีกำลังในการซื้อสักกี่บาท สามารถจะซื้อได้ในราคาไหน หากเปรียบเทียบกับ 4P ก็จะเห็นว่า  Price -> Cost  นั่นเอง ที่แตกต่างกันก็ตรงที่ Price การกำหนดราคาเราอาจจะใช้กลยุทธ์ต่างๆ คิดต้นทุนจนไปสู่ราคาในการขาย แต่ Cost จะเป็นราคาขายที่เราพิจารณาความสามารถในการซื้อ และพึงพอใจในกลุ่มลูกค้าของเรา
Convenience ความสะดวก ไม่ต้องคิดอะไรมาก คิดแค่ว่าลูกค้าเราชอบไปที่ไหน หรือลูกค้าเราอยู่ที่ไหน สำหรับหัวข้อนี้ หากเปรียบเทียบกับ 4Ps ก็จะเห็นว่า  Place -> Convenience  ถ้าอธิบายง่ายๆ ชัดๆ สั้นๆ คือ ถ้าเป็น Place เราก็คงคิดว่าจะขายที่ไหนดี มีสาขาตรงไหนบ้างดี แบบว่าถ้ามีสาขา มีโอกาสให้คนเห็นเยอะ ก็คงขายได้เยอะ แต่ถ้าเป็น 4Cs คือ Convenience เราก็คงไม่คิดว่าจะต้องมีร้านเยอะ หลากหลายที่ เพราะยิ่งมีหน้าร้านเยอะ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการก็จะสูงตามไปด้วย แต่เราจะมาวิเคราะห์ว่า ลูกค้าเรา มักจะอยู่ตรงไหน ชอบไปเดินที่ไหน สะดวกช่องทางไหน เราก็เอาแบบเน้นๆ เลย ไปนำเสนอทุกที่ ที่ลูกค้าของเราอยู่เป็นประจำ แค่นี้ก็ไม่ต้องเสียเงินไปกับสาขา หรือสถานที่ ที่ไม่ได้กำไรแล้ว
Communication การสื่อสาร จะมองง่ายๆ ก็เหมือนการสื่อสารทางการตลาดนั่นละ ลองมาเปรียบเทียบกับ 4Ps จะเห็นว่า  Promotion -> Communication  หรือการส่งเสริมการขาย โดยมักจะมีการ ลด แลก แจก แถม เพื่อให้คนได้ทดลองใช้ หรืออยากซื้อของเรา บางทีบอกงั้นเราแถมของแล้วกัน แต่เอาของแถมที่ถูกๆหน่อย ลูกค้าคงอยากได้ของฟรี แล้วพอทำจริงๆ ลูกค้าไม่ซื้อซะงั้น เพราะไม่ได้อยากได้ของแถมอย่างที่เราคิด แต่ในมุมมองของ 4Cs ที่เราพูดถึง Communication พูดง่ายๆ การสื่อสาร เราก็ไปถามลูกค้าสิ อยากได้อะไร ถ้าแถมของแบบนี้ แล้วจะชอบไม๊ เอาตัวอย่างง่ายๆ ดีกว่า ถามตัวคุณเอง เคยเป็นเหยื่อการตลาด เพราะของแถมไม๊ แบบโอ๊ยยยยย อยากได้ของแถม ซื้อเพราะของแถม.... นั่นไงเหยื่อการตลาด โดยแบรนด์สามารถทำให้คุณมีโอกาสซื้อสินค้าแล้ว และได้ทดลองสินค้าของเค้าไปด้วยเหมือนกัน

4Es เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่มีคนพูดถึงกันเยอะ ผมเองก็พยายามค้นหาแหล่งที่มา และไปพบในแนวคิด 4Es ที่ประกอบด้วย Emotion, Experience, Exclusivity และ Engagement ซึ่งเป็นแนวคิดใน Marketing 3.0 (Kotler et al.,2010) แต่พออ่านไปเรื่อยๆ ก็ยังเจอแนวคิดของ Brian Fetherstonhaugh (2009) จากบริษัท Ogilvy & Mather ซึ่งเป็นแนวคิดทางการตลาดประกอบด้วย Experience, Exchange, Everyplace และ Evangelism สำหรับ 4Es ในมุมมองของผมก็จะเป็นการต่อยอดแนวคิดมาจาก 4P -> 4C -> 4E คือ รู้จักตัวเรา รู้จักลูกค้า และเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ซึ่งอาจจะเข้าใจในแนวคิดของ Customer Journey คือเข้าใจเส้นทางการรับรู้ของลูกค้านั่นเอง


- Emotion อารมณ์ 
"ของมันต้องมี" คำนี้บาดหัวใจหลายคนจริงๆ และหลายๆครั้งการตัดสินใจซื้อสินค้าก็ขาดเหตุผล ด้วยอีกคำว่า "อยากได้" ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่นักการตลาดต้องวิเคราะห์ และสร้างอารมณ์ให้เกิดการมีส่วนร่วมของลูกค้า เช่น การใช้ Influencer ศิลปิน นักแสดง ที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจกับลูกค้า หรือกลยุทธ์ในรูปแบบของ Flash sale หรือ Final Sale หรือตระกูล Sale ทั้งหลาย ถามตรงๆ ถ้าไม่มีป้าย Sale จะอยากซื้อไม๊? เปล่าเลย!!! แต่พอคำว่า Sale เท่านั้นละ ขอดูหน่อยแล้วกันนะ


ตัวอย่างโฆษณาของกระทิงแดง "RED BULL GIVES YOU WIIINGS" ทำให้ลูกค้ารู้สึกเพิ่มพลังในการทำงาน เหมือนสโลแกน "กระทิงแดงติดปีกให้คุณ"
- Experience ประสบการณ์ คำเต็มๆ ก็คือ Customer Experience พูดง่ายๆ ก็คือ ประสบการณ์ของลูกค้าเรานี่ละ หากช่วงก่อนหน้านี้ ผมก็คิดถึงการตลาด ที่ทุกๆคนบอกว่า เราต้องมี Story อีกด้วย มาย้อนกลับเดี๋ยวจะหลงประเด็นไปใหญ่ ประสบการณ์ลูกค้าเป็นสิ่งที่เราเองจะสร้างได้ โดยเฉพาะธุรกิจบริการทั้งหลาย เช่น ร้านอาหาร หรือร้านกาแฟ ที่ลูกค้าจะรับรู้มากกว่าคำว่าสินค้า อาจจะรับรู้ถึงบรรยากาศภายในร้าน การแต่งหน้าอาหาร แก้วกาแฟ การแต่งตัวของพนักงาน การพูดจา การให้บริการ ฯลฯ พูดง่ายๆ สิ่งที่ลูกค้าอาจจะรู้สึก "ว้าว" หรือ Wow Marketing กลายเป็นเรื่องใหม่อีก เอาไว้มีเวลาจะมาขยายความให้ฟัง ขออีกหนึ่งตัวอย่างสำหรับผลิตภัณฑ์นะครับ ยาสีฟัน Dentiste แล้วกันนะครับ


คำถามคือ Dentiste ขายอะไร? ขายยาสีฟัน? หรือขายความสัมพันธ์? สรุป คือ ขายยาสีฟัน ที่รับประกันความสัมพันธ์ให้รู้สึกไกล้ชิดกันมากขึ้นแม้ยามตื่นนอน ผมชอบแนวคิดนี้ครับ เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าชองผลิตภัณฑ์ ราคาถามว่าแพงไหม? ตอบเลยแพง แต่ถามว่าคุณจะซื้อใหม? ตอบเลยถ้าอยากให้คนอยู่ข้างๆ ประทับใจตอนเช้า คงต้องจัดแล้ว!!!!
- Exclusivity คนพิเศษ ผมใช้คำนี้แล้วกัน "เพราะคุณคือคนพิเศษ" อย่าสับสนกับคำว่า "ลูกค้าคือพระเจ้า" เพราะคนละประเด็นกัน สำหรับแนวคิดนี้ อยากให้คุณวิเคราะห์ และคิดว่าลูกค้าคือคนสำคัญ แต่ละคน แต่ละกลุ่มมีความชื่นชอบแตกต่างกัน ดังนั้นการนำเสนอเฉพาะบุคคล หรือเฉพาะกลุ่มจึงมีความสำคัญ
พิเศษเฉพาะ All member อ้าวๆ เราก็เป็นสมาชิก.. แต่เดี๋ยวก่อน ไม่ได้เกิดเดือน "เมษายน" อดไป กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่พอจะเห็นความหมายของ Exclusivity ได้บ้าง
- Engagement "การมีส่วนร่วม" พอได้ยินคำนี้ ผมก็นึกถึง "การตลาดแบบปากต่อปาก (WoM)" ขึ้นมามาเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนการสื่อสารแบบสองทาง ที่ลูกค้ามีส่วนร่วมไปด้วย

สำหรับในแนวคิดของ Fetherstonhaugh, B. (2009) ที่แตกต่าง คือ Experience, Exchange, Everyplace และ Evangelism น่าสนใจอย่างไรลองมาดูกัน

- Experience ในหัวข้อนี้ผมคงไม่อธิบายเพราะมีความไกล้เคียงกับที่กล่าวไปแล้วด้านบนลองไปอ่านดู
- Exchange "คุณค่า" ในหัวข้อนี้ เปรียบเทียบกับ Price หรือ Cost เอ้าแล้ว มันเกี่ยวกับ Exchange ยังไง? ถ้าหากแปลตรงๆ มันแปลว่า แลกเปลี่ยน แต่ในที่นี้ ต้องการแปลว่า "คุณค่า" มาเล่าเรื่องกันนิดๆ หากยุคเดิมๆ เรากำหนดราคา (Price) ก็อาจจะต้องมาจากต้นทุน, วัตถุดิบ, การผลิต, กำไร ฯลฯ จนได้ราคาสินค้าที่จะวางขาย แต่ปัญหาวันนี้คือ คุณไม่ใช่คนที่ขายคนเดียวในโลก แล้วจะขายยังไงดี จะลดราคา เป็นสงครามราคาเหรอ? หรือจะทำโปรโมชั่นแบบ ลด แลก แจก แถม.... เหนื่อยไหมครับ? ในแนวคิดนี้ก็เลยมองว่า คุณต้องสร้างคุณค่ากับผลิตภัณฑ์ พูดง่าย แต่เข้าใจยาก ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ เคยใหมครับ ที่ยอมซื้อนาฬิกาแบรนด์ดีๆ แพงกว่านาฬิกาทั่วๆไป ซื้อเพราะอะไร? ซื้อเพราะรู้สึกว่าคุณภาพดีกว่าใช้ได้นานกว่า หรือโทรศัพท์เช่น iPhone ทำไมหลายคนเลือกซื้อ iPhone ทั้งๆที่ราคาแสนแพงถ้าเปรียบเทียบกับ Android หลายๆค่าย กลุ่มคนที่ใช้ iPhone อาจจะรู้สึกถึงความสบายใจ ไม่มีปัญหาจุกจิก ไม่ต้องรู้จักเรื่องระบบเยอะ แบบนี้เป็นต้น

- Everyplace "ทุกที่" พอพูดถึงข้อนี้ เรามักจะคิดถึง Place ใน 4P แต่หากบอกว่า "ทุกที่" จะหมายถึงอะไร หากมองว่าหาช่องทางการรับรู้ทุกช่องทางที่มีเหรอ? สำหรับผมคงตอบว่าไม่ใช่ แต่จะต้องเป็นช่องทางทุกช่องทางที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรามีโอกาสรับรู้ เลือกซื้อ และซื้อสินค้าของเรา พูดง่ายๆ ถ้าจะพูดถึง Channel คงไม่ใช่ Single Channel เหมือนในอดีต หรือ Multi Channel เหมือนในปัจจุบันอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ แต่ควรเป็น Omni Channel พูดง่ายๆ จะต้องบูรณาการช่องทางการรับรู้ของลูกค้าอย่างเป็นระบบ แบบยังไงดี.. แบบ Remarketing ที่โฆษณาคอยตามหลอกหลอนจนเราอาจอดใจไม่ไหวต้องซื้อจนได้ นอกจากนี้ผมมองว่าเราควรให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายของกลุ่มลูกค้าของเรานั่นเอง
- Evangelism "ภักดีในแบรนด์" ฟังดูก็ไม่เห็นจะเกี่ยวกับ Promotion หรือ Communication จาก 4P หรือ 4C เลย แต่ถ้าจะพูดให้เกี่ยวข้องกันก็ได้ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะอะไรเหรอครับ? เพราะ Promotion เป็นการสร้างการรับรู้ให้ลูกค้าไง ส่วน Communication ก็เป็นการสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงไง แล้วยังไงต่อ? ก็เมื่อคุณเข้าใจลูกค้าได้แล้ว ดังนั้น คุณอาจจะใช้การสื่อสารที่เป็นการสร้างการรับรู้ แบบที่เรียกว่า ฉันไม่ได้ตั้งใจจะขายนะ แต่เธอเห็นฉันคงอยากได้เอง ลองมายกตัวอย่างช่วง Covid-19 นี่แล้วกันนะครับ ทุกคนจะรู้จัก "หม้อทอดไร้น้ำมัน" วันนี้หลายแบรนด์ ได้อานิสงค์มาจากโดนกักตัวอยู่บ้าน ต้องทำอะไรกินเอง ทำกินก็กลัวอ้วน เลยเริ่มสรรหาเมนูเพื่อสุขภาพ คนก็เริ่มทำการ review สารพัดเมนู โดยเฉพาะเมนูที่ใช้หม้อทอดไร้น้ำมัน ที่ช่วยให้ลดปริมาณน้ำมันในการทำอาหารได้ แบรนด์ต่างๆ ที่ผลิตหม้อทอดทั้งหลาย ก็เริ่มมีกลยุทธ์ในการนำเสนอ แทนที่จะกล่าวถึงสรรพคุณของหม้อทอดอย่างเดียว ก็กลับไปนำเสนอเมนูอาหารต่างๆ ให้คนอยากกิน อยากทดลองทำ และสร้างความรู้สึกหม้อทอดไร้น้ำมันว่าสามารถทำอาหารได้อย่างง่ายดาย ก็เลยเป็นการสร้าง Brand Evangelist นั่นเอง หรือจะเข้าใจง่ายๆ ก็ทำให้เกิด Word of Mouth (WoM) พูดง่ายๆ ให้ลูกค้า หรือคนที่อยากใช้ เป็นคนบอกต่อคนรู้จัก

สำหรับนักศึกษาที่อยากจะเอา 4Es ไปอ้างประกอบการเรียน จะหยิบไปใช้ก็เลือกแนวคิดทฤษฏีของใครสักคน ไม่ใช่ไปผสมกันแบบว่า จำอะไรได้ก็พูดถึงตัวนั้น บางครั้งมันก็คงไม่เหมาะสม เพราะแสดงให้เห็นถึงความมักง่าย ขาดหลักการ ตลอดจนไม่ให้เครดิตกับที่มาของทฤษฏีอีกด้วย

4Ds เป็นเรื่องสุดท้าย บอกตามตรง ผมก็ไปอ่านมาเรื่อยๆ แล้วเจอแนวคิดนี้ เลยเอามาแชร์ให้ฟัง ถ้าถามว่าที่มาจากไหนเมื่อปี คศ. 2016 CSC ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านวิศวกรรมไอที ได้มีการรายงานประจำปี เกี่ยวกับความท้าทายรูปแบบดิจิทัล
(** website เป็นภาษาฝรั่งเศส ก็เลยลองแปลเป็นภาษาอังกฤษ และสรุปออกมา ไม่แน่ใจนะครับว่าจะถูกต้องทั้งหมดหรือเปล่า แต่ใครเก่งภาษาลองเข้าไปดูรายะเอียดเองนะครับ ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอ้างอิงด้านล่าง)
(*** ผมคิดว่าแนวคิด 4D เป็นแนวคิดการผสมผสาน ของ 4P, 4C, 4E และมุ่งเน้นการปรับตัว และการเตรียมความพร้อมขององค์กร เพื่อพร้อมรับโลกยุค Digital ซึ่งมุมมองจะไม่ได้เกิดจากนักการตลาดโดยตรง แต่เกิดจากองค์กรที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน)
สำหรับแบรนด์ และธุรกิจปัจจุบัน โดยนำเสนอไว้น่าสนใจ
ดังนี้ 

- Disruption of economic models : เฉพาะคำว่า Disruption ได้ยินกันบ่อยมากในปัจจุบัน แล้วมันคืออะไร? หากเปิดพจนานุกรมแล้วแปลตรงๆ แปลว่า "หยุดชะงัก" แต่หากเราแปลตามบริบทในปัจจุบัน ก็จะเข้าใจว่า มันคือการเปลี่ยนแปลง รูปแบบกระบวนการ หรือวิธีการและวิธีคิดแบบเดิม ถึงขนาดที่ทำลายสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่ให้หายไปเลยก็ได้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า รูปแบบเศรษฐกิจใหม่วันนี้ถูกเปลั่ยนแปลงแบบที่ผู้ประกอบการรายใดปรับตัว และเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ทัน อาจต้องออกจากตลาดไปก็ได้ และในทางกลับกัน ก็ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัว ยอมรับ และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้อย่างทันท่วงที หากจะยกตัวอย่างสักตัวเรื่อง เอาเรื่องไกล้ตัวและเห็นได้ชัด ก็คงไม่พ้นช่วง Covid-19 ธุรกิจต่างๆ ที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจต้องเลิกกิจการกันไป ในขณะที่ทุกคนพูดถึง New Normal หรือวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ของคนในยุคปัจจุบัน หลากหลายธุรกิจที่นำเทคโนโลยี ขยับตัวเองมาในแพลทฟอร์มออนไลน์ ก็ยังคงสามารถขายของได้อยู่
- Digitalization of the customer experience : ประสบการณ์ของลูกค้า ในการใช้รับรู้ และพฤติกรรมของลูกค้าเอง ซึ่งปัจจุบันทุกคนก็จะได้ยินคำว่า Customer Journey หรือในหนังสือ Marketing 4.0 จะใช้คำว่า Customer path หากถามผมว่ามันต่างกันอย่างไร คำตอบก็คือคล้ายๆ กัน แล้วแต่แนวคิด และความละเอียดในการวิเคราะห์ (**เกี่ยวกับเส้นทางการรับรู้ของลูกค้า หากมีเวลาจะลองหาหลายทฤษฏีเหล่านี้มาเล่าให้ฟัง) สิ่งที่แบรนด์จะต้องวิเคราะห์คืออะไร คำตอบ คือ การจำลองพฤติกรรมลูกค้าเราเริ่มต้นจากการรู้จักแบรนด์ จนไปสู่การเป็นลูกค้าที่ชื่นชอบเราได้อย่างไร เรื่องนี้ฟังดูน่าสนุกหากเราวิเคราะห์ตาม แล้วคุณก็จะรู้ว่าแบรนด์จะต้องปรับตัว และดักทางเพื่อเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าได้อย่างไร
- De-Silotage of the value chain : ปรับเปลี่ยนห่วงโซ่คุณค่า ประเด็นนี้ หากเรารู้จัก Value Chain กันดี ก็จะเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน ดังนั้นเองจะพอสรุปแนวคิดให้เห็นถึงปัจจัยภายใน เทคโนโลยีของบริษัท การบริหารจัดการ และพนักงานในบริษัท จะต้องมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนให้สามารถรองรับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
- Diffusion การเคลื่อนไหวและแพร่กระจาย ประเด็นสุดท้าย ก็ยังคงเป็นการพัฒนาภายในองค์กร โดยต้องมีการฝึกอบรม และพัฒนาพนักงาน บุคลากรภายในบริษัท ให้สามารถปรับตัวกับแนวปฏิบัติใหม่ๆ เพื่อการบริหารจัดการที่ดี และตอบสนองในยุคดิจิทัล

บทสรุป ในมุมมองของผม ทุกหลักการและแนวคิดมีข้อดี-ข้อเสีย ตลอดจนรายละเอียดที่แตกต่างกัน ในฐานะนักการตลาด คุณเองจะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นต่างๆ มากกว่าคำพูดเก๋ๆ ดูเท่ห์ๆ ว่า "4Ps เก่าไปแล้ว" หรือขึ้นหัวข้อมาว่า "หมดยุค 4Ps แล้ว" ต้องใช้ 5Ps, 7Ps, 4Cs, 7Cs, 4Es, 4Ds บ้างละ แต่จริงแล้ว "หมดยุค 4P" ผมก็ไม่เคยเห็นด้วยจริงๆ เพราะอะไร? เพราะ 4Ps คือการมองตัวเราเอง คุณมีสินค้า คุณจะเลิกผลิตแล้วไปหาสินค้าอื่นเลยเหรอ ก็เป็นไปไม่ได้ ยกเว้นว่าคุณจะเริ่มคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ มาตรงนี้ การวิเคราะห์ 4Ps เชิงลึก จะทำให้คุณเองรู้จักตัวเองได้ดีมากขึ้น **สำหรับใครที่อ่านบทความนี้ รู้สึกว่า 4Ps เหมือนไม่มีอะไร ผมเขียนสั้นๆ เพราะมันยาวมาก อยากรู้ลึกๆ ไปศึกษาเพิ่มเติมนะครับ** นอกจากนี้เราควรศึกษาข้อมูลเชิงลึก การศึกษา การเรียน การอ่านเพิมเติมจากแหล่งข้อมูลต่างๆ อาจจะทำให้คุณเข้าใจได้มากขึ้น เพราะรายละเอียดแต่ละประเด็นมันมีมากกว่าหัวข้อที่เห็น และขอเป็นกำลังใจให้นักการตลาดรุ่นใหม่ พยายามศึกษาหาความรู้ใหม่ตลอดเวลาเช่นกัน

Sources:
1. http://kosaten.fr/4p-4c-4e-et-4d-le-mix-marketing-en-toutes-lettres
2. https://www.e-marketing.fr/Thematique/agences-1089/Breves/Les-mix-digital-301873.htm
3. https://pdfs.semanticscholar.org/8553/cf54f2edb00069757f80680750e959493bc5.pdf
4. https://catmediatheagency.com/4-ps-of-marketing-strategy
5. https://marketingmix.co.uk/marketing-mix-4cs
6. https://en.wikipedia.org/wiki/Marketing_mix
7. http://www.ogilvy.com/on-our-minds/articles/the_4e_-are_in.aspx
8. https://medium.com/ecommerce-marketing-blog/using-the-4e-to-boost-your-sales-3ccaea358668
9. https://davidpaulcarter.com/2017/04/24/4ps-4es/
10. Kotler, P., Kartajaya, H., & Setiawan, I. (2010). Marketing 3.0 - From Products to Customers to the Human Spirit. New Jersey: John Wiley & Sons, Inc
11. Kotler, P., Kartajaya, H., & Setiawan, I. (2016). Marketing 4.0 - Moving from Traditional to Digital. Hoboken, New Jersey: John Wiley & 
Sons, Inc


ติดตาม/แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการตลาด
สามารถติดตามข่าวสาร และแลกเปลี่ยบข้อมูลผ่าน Open Chat ของโครงการฯ ได้ที่



Innovative Marketing by MBA for IT-Smart Program

Post a Comment

ใหม่กว่า เก่ากว่า